ข้อมูลทางภูมิศาสตร์    

 สภาพแวดล้อมขององค์กร 
อำเภอป่าพะยอมตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของจังหวัดพัทลุงห่างจากอำเภอเมืองพัทลุงระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 386 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดกับอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ทิศใต้ติดกับอำเภอศรีบรรพต และอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ทิศตะวันออกติดกับอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชและอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และทิศตะวันตกติดกับอำเภอห้วยยอดจังหวัดตรังสภาพพื้นที่โดยทั่วไปทางด้านทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่มประชากรมีอาชีพทำนาทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูงและภูเขาประชากรมีอาชีพทำสวนยางพาราสวนผลไม้และเลี้ยงสัตว์ส่งผลให้เกิดโรคระบบกระดูก และกล้ามเนื้อเช่น ปวดหลัง ปวดเอว นิ้วล๊อค ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ลักษณะอากาศโดยทั่วไปเป็นอากาศแบบร้อนชื้นหนึ่งปีมีฝนตกประมาณ 4 เดือน ช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม ของทุกปี จากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ด้านทิศตะวันตกจึงเหมาะกับการเจริญเติบโตของแมลงที่เป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา ส่วนในเวลากลางคืนอากาศค่อนข้างเย็นทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดมีอาการกำเริบได้ง่าย โรงพยาบาลตั้งอยู่ห่างจากถนนเอเชีย ประมาณ 300 เมตร ซึ่งเป็นถนน 4 ช่องการจราจรมีทางร่วมจากถนนสายรองที่โอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจรในหลายจุดประกอบกับเป็นช่วงที่ถนนค่อนข้างตรง ทำให้รถที่ใช้เส้นทางมีความเร็วสูงโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุที่มีภาวะบาดเจ็บรุนแรง เช่น อุบัติเหตุหมู่การบาดเจ็บที่ศีรษะ (Head Injury) มากขึ้นตามไปด้วย ส่วนถนนที่ใช้ติดต่อในเขตตำบล หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นถนนทางลาดยาง บางส่วนเป็นถนนคอนกรีตและลูกรัง ผู้รับบริการส่วนใหญ่มารับบริการมา โดยรถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัว ไม่มีรถประจำทางระหว่างตำบลกับอำเภอ จึงอาจมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ถ้าหาก ไม่มีพาหนะส่วนตัวในกรณีที่มีความเร่งด่วน ส่งผลต่อการเข้าถึงในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(MI) โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน(Acute Stroke)   โรคหอบหืด ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลือไม่ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ ในช่วงที่ผ่านมาอำเภอป่าพะยอมได้มีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ สังคม มาโดยลำดับ มีร้านสะดวกซื้อ ตลาดเปิดท้าย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในชุมชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคประชาชนนิยมรับประทาน อาหารสำเร็จรูปส่งผลให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ในพื้นที่ 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยทักษิณและวิทยาลัยเทคนิคป่าพะยอม ทำให้มีนักศึกษาจากต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆส่งผลต่อปัญหายาเสพติด การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โรคเอดส์ ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต มีการจ้างแรงงานต่างด้าวสำหรับภาคการก่อสร้างและภาคการเกษตรมากขึ้น ประกอบกับอำเภอป่าพะยอมเป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดอื่น จึงมีโอกาสเกิดปัญหาด้านสุขภาพและการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องแตกต่างไปจากเดิม ส่งผลให้จำนวนผู้รับบริการเพิ่มมากขึ้น มีปัญหาสิทธิด้านการรักษาพยาบาล